- บทความ -

การเมืองเรื่องถวายฎีกา โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ไม่มีใครปฏิเสธการรวบรวมรายชื่อของกลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศโดยการนำของกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า นปช. เพื่อยื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก ๒ ปี ว่าการรวบรวมรายชื่อครั้งนี้มิใช่เป็น “ฎีกาการเมือง” เพราะเป็นการหวังผลทางการเมืองเป็นหลักมากกว่าการที่จะหวังผลทาง ด้านกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่านอกจากคดีนี้แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีค้างคาอีกเป็นนับสิบคดี แน่นอนว่าการเดินเกมครั้งนี้ย่อมออกมาจากแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ผู้เดียวเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและชำระแค้นอันใหญ่หลวงของเขา ลำพังเพียงแค่ระดับแกนนำ นปช.เองคงไม่มีความสามารถหรือมีพลังเพียงพอขนาดนี้ มิหนำซ้ำยังถูกคัดค้านจากแกนนำในซีกซ้ายเก่าหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนี้เสียอีก จนกระบวนการรณรงค์ในระยะแรกออกอาการรวนไปเหมือนกัน การหวังผลทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้นอกจากเป็นการหวังผลทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกแล้ว ยังหวังผลเพื่อให้กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าผลของการที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือการที่จะไม่มีพระบรม ราชวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น ถูกสำนักราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวังตีกลับ หรือ ไม่มีการถวายฎีกาโดยตรงต่อสำนักราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวัง เพราะไปยื่นแล้วแต่หน่วยงานทั้งสองไม่รับจึงไปถวายฎีกาผ่านทางสื่อสารมวลชนแทน ฯลฯ ผลที่ตามมาย่อมกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าจากปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจะสามารถรับฎีกานี้ไว้ได้หรือไม่ ประกอบกับปัญหาทางทางด้านธุรการที่ว่ากันว่ามีจำนวนรายชื่อเป็นร้อยๆพันๆกล่อง จะตรวจ จะรับ จะเก็บรักษากันไว้อย่างไร อีกทั้งแรงต้านที่ค่อนข้างเยอะ และเมื่อผลทางการเมืองเป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งเป้าไว้ คือสร้างความสั่นสะเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการยื่นถวายฎีกาเลยก็ตาม ซึ่งในที่สุดผมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวกคงจะเลือกใช้วิธีการยื่นโดยการประกาศผ่านสื่อสารมวลชนอย่างแน่นอน (ซึ่งก็ไม่เคยมีในแบบธรรมเนียมปฏิบัติอีกเช่นกัน) ไม่ว่าจะมีการยื่นฎีกาด้วยวิธีการเช่นใดก็ตาม หากแม้นว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัย ยกฎีกา หรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจแก่ประชาชนจำนวนกว่า ๕ ล้านคนที่ลงชื่อในฎีกานั้น (จำนวนจะจริงเท็จแค่ไหนไม่ทราบได้ แต่คงมีจำนวนมากอย่างแน่นอน) ใน ทางกลับกันหากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษลงมา พ.ต.ท.ทักษิณก็จะรับผลประโยชน์แห่งคดีนี้ไปเต็มๆ แต่จะสร้างความไม่พึงพอใจให้เกิดแก่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณอย่างแน่นอน เรียกว่าหมากเกมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน อย่างหนักชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อนเลยก็ว่าได้ จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นับได้ว่าการเมืองเดินมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นจุดพลิกผันที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์ครั้งใดใดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ แม้กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์ยึดสนามบินเมื่อปลายปี ๕๑ หรือ เหตุการณ์สงครามเลือดปี ๕๒ ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลยทีเดียว เพียงแต่ยังไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่หากปรากฏการณ์ยังคงดำเนินไปอยู่เช่นนี้ ก็เป็นอันคาดเดาได้ว่าความวุ่นวายจะเกิดขึ้นจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว แต่เมื่อเราหันกลับมามองดูการแก้ปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาลที่แก้ปัญหาอย่าง หน่อมแน้มแล้วก็ให้เป็นที่อ่อนอกอ่อนใจยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นการตอกลิ่มความแตกแยกที่ลึกอยู่แล้ว ให้ลึกลงไปอีกด้วยการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการถวายฎีกา การเกณฑ์กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนับตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ฯลฯ ให้ระดมมวลชนออกมาต่อต้านการถวายฎีกา ซึ่งการระดมมวลชนนี้กระทรวงมหาดไทยอาจจะเคยทำได้ผลในยุคที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อนำมาใช้ในกรณีนี้กลับกลายเป็นการแก้ปํญหาที่เพิ่มปัญหาให้มากยิ่งขึ้นไปอีก และอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของการแก้ปัญหาของกระทรวงมหาดไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งๆที่ในอดีต ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยเคยมีผลงานในด้านมวลชนมาโดยตลอด แต่มาในคราวนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและอีสานนอกจากจะใส่เกียร์ว่างไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ยังใส่เกียร์ ถอยหลังกันอีกต่างหาก การระดมมวลชนออกมาต่อต้านฝ่ายตรงข้ามนั้นได้ผลดีในการต่อสู้อริราชศัตรู แต่มิใช่ออกมาต่อต้านคนไทยด้วยกันเองเช่นนี้ กรณีนี้จึงเปรียบเสมือนการปรบมือ หากปรบข้างเดียวก็ย่อม ไม่สามารถดังได้ฉันใด การปรบมือสองข้างเข้าหากันแล้วนอกจากจะมีเสียงดังแล้วยังเจ็บมืออีก ยิ่งปรบมือแรงเท่าใดก็ย่อมที่จะเจ็บมือมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น แทนที่รัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองในสถานการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณระดมล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาเช่นนี้ว่า ไม่ว่าจะได้มีการยื่นหรือไม่ยื่นฎีกาก็ตาม ในเมื่อมีการระดมล่ารายชื่อเพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกามาแล้ว ย่อมเกิดผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรัฐบาลต้องให้ข้อมูลให้ทั่วถึงและรอบด้าน แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งหลายจะได้ตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใด ไม่ควร มิใช่มาราดน้ำมันเข้ากองเพลิงเช่นนี้ หากความวุ่นวายหรือสงครามกลางเมืองจักมีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นตราบาปติดตัวไปไปเต็มๆ ชั่วลูกชั่วหลานย่อมหนีไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะที่เดินเกมการเมืองโดยเอาประเทศไทยและคนไทยเป็นเดิมพันเช่นนี้ และแน่นอนว่ารัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีและนายชวรัตน์ ชาญวีรกุลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ย่อมต้องรับตราบาปนี้อย่างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้เช่นกันที่แก้ปัญหาด้วยการตอกลิ่มความแตกแยกลงไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเผลอๆอาจจะต้องรับผิดชอบมากกว่าใครเพื่อนเพราะเป็นฝ่ายเข้าไปปรบมือประสานเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง -----------------------------

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

การศึกษากฎหมายไทยที่มีผลกระทบต่อบริบททางสังคมปัจบัน

การศึกษากฎหมายไทยที่มีผลต่อบริบททางสังคมในปัจจุบัน
ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ่นในสังคมไทยนั้นมีมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าแทบทุกเรื่องเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาความแตกแยก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาด้านการศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ
ปัญหาต่างต่างเหล่านี้กระทบต่อสังคมหมู่มากโดยตรง และเมื่อปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น สังคมก็จะมองไปหาสี่ที่จะมาแก้ใขเยียวยา และทุกครั้งก็มักจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “กฎหมาย” เข้ามาช่วยเหลือ บางเรื่องกฎหมายก็ทำให้ดีขึ้น บางเรื่องกฎหมายก็ไม่ทำให้ดีขึ้นกลับแย่ลง แต่กระนั้นก็ตามกฏหมายก็เป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปและนักการเมืองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะใช้แก้ใขเยียวยาปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ
การศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย จึงดูจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็พากันเปิดสอนกฎหมายกันในเกือบทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งหากมองผิวเผินก็อาจเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้คนในประเทศมีความรู้กฎหมาย ที่จะรักษาสิทธิเสรีภาพของตนและของผู้อื่นเอาไว้ได้ แต่หากมองลึกลงไปแล้วการที่สังคมให้ความสำคัญกับกฎหมาย แต่มหาลัยที่บ่มเพาะนักกฎหมายให้ก้าวไปสู่สังคมนั้น หากว่าโน้มนำนักศึกไปในทางที่ไม่ควรจะเป็น ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้าพเจ้าจึงขอให้ความเห็นเกียวกับระบบการศึกษากฎหมายไทยที่เป็นอยู่และส่งผลต่อสังคมในหัวข้อต่าง ๆ ต่อไปนี้
(1)การศึกษากฎหมายที่มีลักษณะเน้นเน้นไปในทางท่องจำ มากกว่าจะสอนให้คิดวิเคราะห์จากรากฐานทฤฎี มากกว่าจะสอนให้เชื่อเรื่องเหตุและผลที่เป็นแก่นแท้ของกฏหมาย แน่นอนการศึกษาย่อมหลีกพ้นการท่องจำตัวบทกฎหมาย แต่เห็นว่าไม่ควรจะท่องจำจนกระทั่งหลบซ่อนเหตุและผลในจิตวิญญาณ ไม่ควรท่องจำจนลืมศีลธรรมรากฐานความเป็นมนุษย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ชออบอ่านและท่องคำพิพากษาฎีกาเป็นสรณะ เพราะถูกอาจารย์ที่สอนกล่อมเกลาว่าเมื่อจบปริญญาตรีไปเรียนเนติ ฯ ต่อจะช่วยให้สอบเนติ ฯผ่านได้อย่างสบาย ๆ พอผ่านเนติ ฯ ก็ไปสอบผู้พิพากษา อัยการ ผ่านได้อย่างสบาย ๆ อันี้เห็นว่าน่าจะไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำพิพากษาฎีกานั้นแน่นอนเป็นสิ่งที่มาจากผู้มีความรู้ทางกฎหมายอย่างยิ่งยวด แต่ก็มีความล้าสมัยในตัวของมันเอง มีความยุติธรรมในขณะพิพากษา แต่ก็อาจกลายป็นความไม่ยุติธรรมในภายภาคหน้า อันนี้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่อง ฮ้วประมูล ที่สมัยหนึ่งเคยถูกรับรองความชอบธรรมไว้ในคำพิพากษาฎีกา ปํจจุบันก็กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไป (แต่กว่าจะเปลี่ยนได้ต้องใช้เวลาหลายปี)
(2) การตอบข้อสอบกฎหมายที่เน้นการตอบให้ถูกต้องตามธงคำตอบของผู้ที่ออกข้อสอบกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการจำกัดกรอบความคิดของนักศึกษากฎหมายที่แม้จะยังเยาว์วัยแต่ใครจะรู้ได้ว่าความคิดของเขาอาจถูกต้องกว่าผู้เป็นอาจารย์ก็ได้ เพราะกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของเหตุและผลไม่มีฝ่ายใหนผิดถูก การตอบข้อสอบที่เห็นว่าควรใช้แบบอังกฤษ อเมริกา ที่ผู้สอนจะกำหนดไว้เลยว่า ต้องตอบให้ครบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นวิชาการที่อาจารย์สอน และส่วนที่เป็นความเห็นของผู้ตอบข้อสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ตอบได้ใช้ทักษะในการให้เหตุผลหักล้างบ้าง ยิ่งเป็นการถ่วงดุลย์ความเห็นของอาจารย์ผู้ออกข้อสอบอีกทางด้วย
(3) ในส่วยสุดท้ายเห็นว่าการสวนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเน้นไปที่รูปธรรมเกินไปจนลืมนึกถึงนามธรรมที่เรียกว่า ศีลธรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์จิตวิญญาณของชนในชาติ ซึ่งเรื่องนี้มีผลอย่างมากที่ที่จะทำให้นักกฎหมายที่ขาดนามธรรมเหล่านี้บังคับจิตใจอยู่ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมได้เพราะนักกฎหมายที่ขาดสิ่งค้ำจุนจิตใจก็ไม่ต่างจากผู้ที่มีอำนาจในมือแล้วไม่มีอะไรไปหักห้ามใจเขาไม่ให้ทำในสิ่งที่เลวร้าย แต่กระนั้นก็ตามหลักสูตรนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มักจะตัดวิชา หลักวิชาชีพนักกฎหมาย, นิติปรัชญา, ประวัติศาสตร์กฎหมายทิ้งไปโดยให้เหตุผลว่าไม่มีความสำคัญ (ความจริงแล้ววิชาเหล่านี้ต่างหากที่มีความสำคัญ แต่อาจารย์ที่สอนถูกบ่มเพราะมาแต่แรกว่าไม่มีความสำคัญ ต่างบอกลูกศิษย์ว่าไม่มีความสำคัญ)
สรุปแล้วเราไม่ต้องบอกว่าเราได้กฎหมายที่ล้ำสมัยมาจากต่างประเทศมากมาย(ลอกเขามา)เพราะเราลอกมาเฉพาะตัวอักษร แต่มิได้ปรับจิตวิญญาณของนักกฎหมายให้ใช้กฎหมายเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักกฎหมายนักกฎหมายออกมากลับมีระบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม อันจะทำให้นักกฎหมายไปช่วยเหลือสังคมได้เลย